ReadyPlanet.com
dot dot
dot
เมนู
dot
bulletหน้าหลัก
bulletประวัติโรงเรียน
bulletวิชารำไทย
bulletวิชาบัลเลต์
bulletวิชาแจ๊สแดนซ์
bulletวิชาดนตรีไทย
bulletกิจกรรมคอร์สปิดเทอม
bulletทำเนียบนักเรียน
bulletผลงานนักเรียน / งานแสดง
bulletThai Classical Dancing for Foreigners
bulletแผนที่ B.B.Academy
bulletเช่าชุดไทย / สั่งซื้อชุดไทย
bulletเนื้อเพลงไทย,ประวัติและท่ารำ
bulletประวัติและความหมายของนาฏศิลป์ไทย
bulletประวัติและความหมายของบัลเล่ต์
bulletข่าวสาร
dot
Link น่าสนใจ
dot
bulletbb-academy.blogspot.com
bulletwww.thaidances.com
bulletsongburi-เพลงไทยเดิม
dot
Link ข่าวสาร
dot
bulletnationmultimedia
bulletMatichon
bulletThairath:ไทยรัฐ
bulletBangkokpost
dot
Free eMail
dot
bulletGmail
bulletHotmail
dot
Newsletter

dot
bulletYahoo
bulletลิงค์เพื่อนบ้าน


ประวัติและความหมายของบัลเล่ต์

 ประวัติและความหมายของบัลเล่ต์

          บัลเล่ต์ที่เห็นเอาปลายเท้าจิกพื้นเหมือนดูง่ายๆ แต่กว่าจะทำได้ต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็กเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะยืนปลายเท้าได้ หากไม่ได้รับการพัฒนาก้ามเนื้อตั้งแต่เด็กอาจเกิดอาอารห้อเลือดและบาดเจ็บ ดังนั้นการฝึกฝนต้องอยู่ในความดูแลของผู้สอนอย่างใกล้ชิดเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงพอจึงจะพร้อมทำการแสดงที่แสนอ่อนช้อยอย่างที่พวกเราเห็นกันค่ะ

                                                                                                                     บัลเล่ต์กับเด็กๆ

การเรียนบัลเล่ต์ นอกจากจะช่วยพัฒนาบุคลิกของเด็กแล้ว  ยังสามารถช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของลักษณะการเดินให้มีท่าทีที่สง่างามได้อีกด้วย   เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นประจำจะเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง   ร่าเริงแจ่มใส เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและความกล้าแสดงออกให้กับเด็ก  ตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักในเสียงดนตรีและการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาไปสู่การเต้นในรูปแบบอื่นๆต่อไป...

                  

                                                                       

ประวัติบัลเล่ต์ (Ballet)

       "บัลเล่ต์" เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาเลี่ยนจากคำว่า balli ที่แปลว่าการเต้นรำ ศิลปะการเต้นบัลเล่ต์ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอิตาลี ในยุคที่เรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือยุครีแนสซองค์ ซึ่งการแสดงบัลเล่ต์ในยุคแรกเริ่มนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากยุคปัจจุบันมาก โดยกลุ่มผู้มีบทบาทในการพัฒนารูปแบบศิลปะการเต้นบัลเล่ต์ในอิตาเลี่ยนคือกลุ่มขุนนางชายในราชสำนักอิตาเลี่ยนเนื่องจากการแสดงบัลเล่ต์ในยุคแรกเริ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อการเยินยอพระเกียรติของพระมหากษัตริ์ การแสดงเพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะและใช้ประกอบในงานราชพิธีสำคัญต่างๆของชนชั้นสูง ประกอบกับความยากลำบากของเครื่องแต่งกายของเหล่าขุนนางฝ่ายหญิงที่มีลักษณะเป็นกระโปรงสุ่มยาวจึงยากแก่การปฏิบัติท่าเต้นทำให้บทบาทของการพัฒนาศิลปะการเต้นบัลเล่ต์ตกอยู่ที่ขุนนางฝ่ายชายซึ่งอาจบอกได้ว่าบัลเล่ต์เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นโดยผู้ชาย ก็เป็นได้

       บัลเล่ต์เป็นการเต้นรำเพื่อความบันเทิง เฟื่องฟูมากในช่วงปลายศตวรรษที่
15-16 ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าการแสดงโลดโผน ละครใบ้ บทสนทนา และบทเพลงผสมผสานกัน มีจุดประสงค์รับใช้ราชสำนักเป็นหลัก ประชาชนเป็นรอง

       สำหรับบัลเล่ต์เป็นศิลปะการเต้นรำที่พระนางแคเธอรีนแห่งเมดีซี (Catherine de Medici) นำไปพัฒนาที่ฝรั่งเศส เมื่อพระนางอภิเษกกับกษัตริย์อองรีที่ 2 ในตอนนั้นการแสดงบัลเล่ต์กินเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง

        บัลเล่ต์ทำให้สตรีในราชสำนักมีโอกาสร่วมเต้นรำด้วย หลังจากที่เคยจำกัดอยู่ในวงของบุรุษ แต่บทนางเอกของเรื่องก็ยังกำหนดให้ผู้ชายแสดงอยู่ดี ส่วนผู้หญิงได้เล่นแต่บทเล็กๆ นอกจากนั้นผู้หญิงยังถูกจำกัดท่าทางการเต้นด้วยเครื่องแต่งกายที่ฟูยาว ขณะที่ผู้ชายแต่งตัวด้วยชุดรัดรูป ทำให้มีอิสระในการเคลื่อนไหวขามากกว่าไม่ว่า การหมุน การซอยเท้า การกระโดดซับซ้อนขึ้น รวมทั้งการยืนบนปลายเท้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเต้นบัลเล่ต์

        พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้มีอิทธิพลมากในการทำให้การเต้นรำในราชสำนักกลายเป็นการเต้นรำเพื่ออาชีพ พระองค์ร่วมแสดงละครบัลเล่ต์เรื่อง “La nuit” ทั้งระดมผู้คนทั้งในราชสำนัก นักการเมือง และผู้มีพรสวรรค์ทุ่มเทพัฒนาการแสดงเต้นรำ ในค.ศ.1661 ทรงก่อตั้งสถาบันการเต้นรำอาชีพและสถาบันการดนตรีแห่งราชสำนัก และในปี 1671 จึงมีโรงเรียนสอนเต้นรำ ที่กรุงปารีส ซึ่งเปิดกว้างสู่สามัญชน

        ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17-18 มีการก่อตั้งมูลนิธิของบัลเล่ต์ เพื่อพัฒนาการเต้นให้ดียิ่งขึ้น เช่นการใช้เท้าที่ซับซ้อนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่นักเต้นบัลเล่ต์หญิงเริ่มมีบทบาทเด่นมากขึ้น ในปี 1681 นักเต้นหญิงมีโอกาสขึ้นเวที โดย Marie de Carmargo เป็นหนึ่งในนักเต้นบัลเล่ต์หญิงที่มีชื่อเสียงด้านระบำปลายเท้าที่ว่องไวและซับซ้อน เธอยังเป็นผู้ที่ตัดกระโปรงบัลเล่ต์ให้สั้นลง 2-3 นิ้ว เพื่อให้เต้นสะดวกขึ้น

         การปฏิวัติของมารีไม่ได้รับการยอมรับนัก กระทั่ง 50 ปีผ่านไป ในปีค.ศ.1760 ผู้เชี่ยวชาญบัลเล่ต์เริ่มตั้งคำถามถึงข้อจำกัดซึ่งยึดหลักศิลปะ และข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น ปรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการคือ ฌอง จอร์จ โนแวร์ ผู้เสนอแนวคิดการพัฒนาบัลเล่ต์ให้เป็นแบบฉบับศิลปะที่เป็นจริงเป็นจัง เพราะเห็นว่าบัลเล่ต์ควรเป็นวิธีที่ใช้แสดงความคิดทางละครผ่านทางการผสมผสานที่สมบูรณ์แบบของการเต้นรำ ละคร และตัวละคร เขาแลกเปลี่ยนความคิดของเขากับนักเรียน นักเต้นรำ และผู้ออกแบบท่าเต้นในเวลานั้น แต่มีอยู่เพียงท่านเดียวที่นำแนวความคิดของโนแวร์ไปปฏิบัติคือ โดแบร์วาล ผู้ออกแบบท่าเต้นทิ่ยิ่งใหญ่ เขาออกแบบท่าเต้นรำและสร้างตัวละครสามัญชนในละครเรื่อง La Fille Mal Garde ปีค.ศ.1789

        ปัจจุบันบัลเล่ต์มีผู้ชมจำนวนกว้างขึ้น และมีหลากหลายเรื่องที่เล่น ได้แก่ Swan Lake (หงส์เหิน) Sleeping Beauty (เจ้าหญิงนิทรา) The Nutcracker , Carmen ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพลงคลาสสิคของไชคอสสกีในการบรรเลง

                                          ประวัติความเป็นมาของบัลเล่ต์ในประเทศไทย

          ประวัติความเป็นมาของบัลเล่ต์ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค  ตามวิวัฒนาการทางด้านการศึกษาและการแสดง คือ

ยุคที่ 1 ยุคริเริ่ม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2494)   เริ่มมีการเรียนบัลเล่ต์ในโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ใน พ.ศ. 2477 ตรงกับสมัยรัชการที่ 7 เป็นการสอนแบบอิสระโดยให้นักเรียนเต้นตาม การแสดงจะเป็นการเต้นประกอบเพลงในละครเพื่อคั่นสลับฉาก รูปแบบการนำเสนอของบัลเล่ต์เข้ามามีบทบาท กับการแสดงนาฏยศิลป์ไทยโดยเฉพาะในละครดึกดำบรรพ์

ยุคที่ 2 ยุคพัฒนาบัลเล่ต์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ถึง พ.ศ. 2509)  บัลเล่ต์เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น เนื่องจากมีครูบัลเล่ต์อาชีพจากต่างประเทศจำนวน 4 คนเปิดสอนบัลเล่ต์ในกรุงเทพฯ การสอนยังเป็นแบบอิสระและมักเป็นการซ้อมเพื่อแสดง มีคนไทยจำนวน 4 คนจบการศึกษาบัลเล่ต์ขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ บัลเล่ต์เริ่มขยายไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ การแสดงเป็นบัลเล่ต์คลาสสิกและการผสมระหว่างนาฏยศิลป์ไทยกับบัลเล่ต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์บทเพลงเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์หลายชุด และทรงให้การสนับสนุนการแสดงบัลเล่ต์ จึงทำให้บัลเล่ต์เป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น

ยุคที่ 3 ยุคมาตรฐานบัลเล่ต์คลาสสิก (ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2541) การเต้นบัลเล่ต์ได้พัฒนาจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของหลักสูตรการศึกษาของไทยในระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา และได้มีการแพร่ขยายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การสอนเปลี่ยนแปลงมาเป็นการใช้หลักสูตรสากลของประเทศอังกฤษ เป็นการวัดมาตรฐานบัลเล่ต์ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล การแสดงเป็นบัลเล่ต์คลาสสิก โดยมี 2 ลักษณะ คือ การแสดงงานโรงเรียนและการแสดงในเชิงพาณิชย์ ในประเทศไทยยังไม่มีคณะบัลเล่ต์อาชีพ และผู้สนับสนุนบัลเล่ต์อย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งควรมีการแต่งตำราเกี่ยวกับบัลเล่ต์เป็นภาษาไทย เพื่อให้นักเต้นได้รู้และเข้าใจการเต้นบัลเล่ต์ดียิ่งขึ้น และงานวิจัยฉบับนี้ควรนำไปสู่การวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาบัลเล่ต์ในประเทศไทยต่อไป...


                                                    นาฎศิลป์ร่วมสมัย
(Contemporary Dance)

         นาฏศิลป์ร่วมสมัย(Contemporary Dance) หรือที่ชาวอเมริกันเรียกว่านาฏศิลป์สมัยใหม่ (Modern Dance) นั้น คงเป็นเพราะว่าในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะสมัยใหม่(Modernism) ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อตอบสนองความต้องการจำเพาะของคนในยุคนั้น โดยเริ่มที่ฝรั่งเศสและกระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกา ซึ่งลักษณะของโมเดิรน์นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่มีความพิเศษที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบงานแบบแผนเดิม ๆ เพราะการออกแบบนั้นจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบการเต้นรำที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในเวลานั้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นต้นกำเนิดของการเต้นในรูปแบบนาฏศิลป์สมัยใหม่นี้เนื่องจากกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการเต้นรำในช่วงเวลานั้นประสบกับปัญหาในการสร้างสรรค์งานที่ต้องการให้ผลงาน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกภายในมากกว่าเรื่องของเทคนิคการเต้นอย่างมีแบบแผนของบัลเล่ต์(Classical Ballet) ซึ่งถือกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศทางยุโรป และในช่วงเวลานั้นสังคมของคนอเมริกันมีความตื่นตัวในเรื่องของกระแสการรักชาติอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเมืองในขณะนั้น จึงทำให้ไม่ยอมรับวัฒนธรรมหรือสิ่งต่าง ๆ ที่หลั่งไหลมาจากยุโรปโดยสิ้นเชิง แต่ในบางกระแสก็กล่าวว่าอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้ฝึกสอนบัลเล่ต์(Ballet Master) ต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศยุโรป ไม่เคยยอมรับนักแสดงหรือคณะแสดงการแสดงบัลเล่ต์ที่จัดสร้างขึ้นโดยคนอเมริกันสักที จึงทำให้สังคมการเต้นในอเมริกันเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และได้เริ่มมีการเปิดภาควิชานาฏยศิลป์ (Department of Dance) เป็นครั้งแรกในสถาบันการศึกษาของสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นจุดรวมของวิทยาการทางด้าน Dance ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
        

       ผู้บุกเบิกที่สำคัญในการเต้นแบบโมเดิร์นในยุคแรกเริ่มคือ อิซาดอรา ดันแคน ( Isasara Duncan) เจ้าของทัศนคติ “Free Spirit” ที่ทุกคนยอมรับ เธอเกิดในซานฟรานซิสโก และไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยเข้าเรียนในโรงเรียนเต้นรำใดมาบ้าง แต่เธอได้เคยกล่าวไว้ว่า “เธอเริ่มเต้นรำตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา” เธอเริ่มชีวิตการเป็นนักเต้นโชว์ในเมืองชิคาโก ในปี ค.ศ. 1900 ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้จัดการโรงละครชื่อออกูสติน ดาลี และเมื่อเธอได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานจากการไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งกรุงลอนดอนเธอได้เกิดความประทับใจและซึมซับเอาศิลปวัฒนธรรมของกรีกโบราณ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของเธอหลายต่อหลายครั้ง การแสดงของเธอจะมีรูปแบบการเต้นที่ค่อนข้างจะเป็นแบบฉบับของเธอเองมาก และมีความเป็นส่วนตัวมากจนไมมีใครสามารถสืบทอดศิลปะของเธอได้ มีลักษณะการเต้นที่ดูเหมือนจะไม่เป็นระบบและมีท่าที่ซ้ำไปซ้ำมา บ่อยครั้งงานของเธอจะมีลักษณะท่าเต้นที่ดูเรียบง่าย แสดงกับเวทีที่เปล่าเปลือย มักจะมีฉากสีน้ำเงินปิดหลัง ออกแบบเครื่องแต่งกายการแสดงอย่างง่าย ๆ คล้ายชุดกรีกโบราณ เต้นด้วยเท้าเปล่า ทำให้ผู้ชมในสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังรับไม่ได้เพราะต่างก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ดนตรีประกอบมักจะใช้ผลงานของ ริชาร์ด วากเนอร์, คริสตอฟ วิลลิบัลต์, กลูค ลุควิก ,ฟานเบโทเฟน , และ ปีเตอร์ อีลิทซ์ ไซคอฟกี ในงานของเธอมีลักษณะที่เป็นลีลาการแสดงออกของอารมณ์ประกอบผลงานเพลงของคีตกวี
งานของเธอมีความเป็นศิลปะบริสุทธิ์สูงและมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอได้กลับมาเปิดการแสดงที่อเมริกาซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเธอเอง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก ในยุคสมัยต่อมาได้เกิดแบบแผนของการเต้นแบบโมเดิร์นแดนซ์ ที่กลายเป็นแบบฝึกหัดทางกายภาพเพื่อให้นักเต้นมีเทคนิคพิเศษในการเต้นรำ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายใช้เป็นแบบอย่างในการเรียน-การสอนมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีนักเต้นและผู้ออกแบบท่าเต้น คือ มาร์ธา เกรแฮม ( Martha Graham ) มาร์ธา จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนเต้นรำที่ชื่อว่าเดนิสชอว์ ( Denisshaw ) จัดตั้งโดย รู๊ท เซนต์ เดนิส ( Ruth St. Denis )และสามีนักเต้นรำของเธอ เท็ด ชอว์ ( Ted Shawn )ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1914 ที่เมืองซานตา บาบารา รัฐแคลิฟอร์เนีย
       

       มาร์ธาเกิดในมลรัฐเพนซิลวาเนีย ในครอบครัวของผู้ที่เคร่งในศาสนาคริสต์ฝ่าย โปรแตสแตนต์ ซึ่งใช้การปกครองโดยพระที่มีสมณศักดิ์เท่ากันหมดและเป็นผู้ที่เคร่งศาสนาในแบบเดียวกันกับคนอังกฤษ ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของศาสนาทางราชการในสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ครอบครัวของเธอจึงได้ย้ายมาที่อเมริกา สิ่งนี้เป็นผลสะท้อนเอาความเข้มงวด ความเคร่งขรึมแสดงออกมาในงานของเธอ ความขัดแย้งระหว่างการรับผิดชอบชั่วดี กับความปรารถนาในอารมณ์แฝงอยู่ในงานหลายชิ้นของเธอ เธอได้สอดแทรกเอาอารมณ์ของความร้ายกาจอย่างขมขื่นกับการสะกดกลั้นความรู้สึกอันเกี่ยวข้องในลัทธิความเชื่อส่วนตัวของเธอไว้ในงานของเธออย่างแยบยล และที่สำคัญเธอยังได้พยายามแสดงให้คนดูเห็นหรือบอกความในใจถึงเรื่องจริงในชีวิตของเธอให้ปรากฏออกมาในงาน ซึ่งพ่อของเธอได้ให้คำยืนยันว่าเธอได้กระทำเช่นนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว
       มาร์ธา มีความสนใจในการเต้นรำมาโดยตลอดและมีความตั้งใจว่า จะยึดการเต้นรำเป็นอาชีพ เมื่อเธอได้เห็นการแสดงของ รู๊ท เธอจึงสมัตรเข้าเรียนในโรงเรียนสอนเต้นรำของรู๊ททันทีในปี ค.ศ. 1916 ที่โรงเรียนแห่งนี้มีความพิเศษนอกเหนือจากโรงเรียนเต้นรำอื่น ๆ ในเวลานั้นคือมีการนำเอาวัฒนธรรมจากประเทศอื่น ๆ มาผสมผสานให้ออกมามีลักษณะร่วมสมัย เช่นนำสไตล์การเคลื่อนไหว ของ อียิปต์ และ อินเดียมาประยุกต์ให้เป็นท่าทางที่ร่วมสมัย และยังสอนรูปแบบการเต้นทั้งแบบเก่า และใหม่ผสมผสานกัน
      

        มาร์ธาใช้เวลาศึกษาการเต้นรำในโรงเรียนเดนิสชอว์แห่งนี้เป็นเวลา 5 ปี จากนั้นเธอจึงหารูปแบบใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนที่โรงเรียนเดนิสชอว์ สร้างสรรค์ให้เป็นรูปแบบการเต้นของเธอเอง เธอได้พัฒนาสไตล์ของเธอเองมาจนถึงจุดหนึ่งที่เธอได้ค้นพบเทคนิค”การยืด” และ “การหด”กล้ามเนื้อ (Contraction and Release ) หลังจากที่เธอได้ตั้งคณะและตระเวนเปิดการแสดงไปทั่วแล้ว ในปี ค.ศ. 1927 เธอได้เปิดโรงเรียนสอนเต้นรำร่วมสมัยของเธอพร้อม ๆ ไปกับคณะการแสดงของเธอซึ่งมีผลงานการแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง
มาร์ธา เกรแฮม เป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์โมเดิร์นแดนซ์ แม้มาร์ธาจะเสียชีวิตไปแล้วแต่คณะการแสดงของเธอก็ยังเปิดการแสดงต่อมา ก่อนที่จะปิดตัวลงไปกลายเป็นประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความเสียดายของคนทั่วโลก แต่ผลงานของเธอได้ถูกนำไปเผยแพร่อย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้โดยเหล่าลูกศิษย์ของเธอ และศิลปินเหล่านั้นก็ยังคงใช้วิธีการสอนที่ได้ร่ำเรียนมากับเธอต่อมาอีกด้วย เช่น เมิร์ส คันนิ่งแฮม, อีริค ฮอคกินส์, แอนนา ซากาโลว์, พอล เทลเลอร์ หรือแม้แต่นักร้องเพลงป๊อปยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาอย่าง มาดอนน่าก็ยังเคยเป็นลูกศิษย์ของมาร์ธา เกรแฮมอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นนักร้องยอดนิยมในภายหลัง มาดอนน่าเคยกล่าวว่า ช่วงเวลาที่ได้อยู่ในคณะเต้นรำของมาร์ธา เกรแฮมเป็นช่วงเวลาที่เธอได้เรียนรู้ถึงระเบียบวินัย และสมาธิในการเคลื่อนไหว ซึ่งเธอได้นำสิ่งที่เธอศึกษามาแสดงออกถึงปรัชญาแห่งการเคลื่อนไหวในการแสดงคอนเสิร์ตของเธอได้เป็นอย่างดีการเต้นในรูปแบบโมเดิร์นแดนซ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในลักษณะของการทดลอง การนำเสนอแนวคิดใหม่ เทคนิคใหม่ เพื่อให้มีรูปแบบการแสดงที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ยังมีนักออกแบบท่าเต้นและนักเต้นที่ยิ่งใหญ่อีกมากมายทำการสืบทอดพัฒนาและคลี่คลายรูปแบบการเต้นนาฏศิลป์ร่วมสมัย ไปในทิศทางที่ต่าง ๆ กัน ในประเทศแถบเอเชียเช่นญี่ปุ่น ก็มีรูปแบบการเต้นรำ การเคลื่อนไหวที่พัฒนามาจากนาฏศิลป์ร่วมสมัยในยุคแรก แต่พัฒนารูปแบบเป็นการเคลื่อนไหวที่สัมผัสกันด้วยพลังงานที่อยู่รอบ ๆ ร่างกาย เรียกเทคนิคการเต้นนี้ว่า บุตโต (Bud-toh) ที่ประเทศอินโดนีเซียได้มีการนำเทคนิคศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงมาผสมผสานจนเกิดเป็นท่าเต้นในรูปแบบของนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่มีชื่อท่าและเทคนิคเป็นท่าเตรียมพร้อมในการต่อสู้ เช่นรำกริช ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นท่าทางเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกีฬาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปัญจะสีลัต
       

       ในการชมนาฏศิลป์ร่วมสมัยนั้น สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับก็คือ สุนทรียภาพแห่งปรัชญา และสาร (Message) ที่สอดแทรกอยู่ในลีลาแห่งการเคลื่อนไหวนั้น และนอกจากนี้ผู้ชมจะได้รับความตื่นตา ตื่นใจจากเทคนิคและการเคลื่อนไหวของนักเต้นที่สื่อสารท่าทาง และเรื่องราวผ่านการเคลื่อนไหวอย่างมีรูปแบบเดียวกัน บอกเล่าความหมายที่ต้องการสื่อให้ผู้ชมเกิดกระบวนการทางความคิดและตีความหมายของท่าทางนั้น ๆ ให้ออกมาเป็นเรื่องราวตามประสบการณ์การดำเนินชีวิตและภูมิหลังของผู้ชมแต่ละท่าน บางครั้งสารที่นักแสดงและผู้สร้างงานต้องการจะสื่อสารให้ผู้ชมได้รับทราบจากการแสดงอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทสรุปเดียวกัน เพราะในการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยครั้งหนึ่งอาจถูกตีความหมายไปได้หลายรูปแบบ แต่การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่ดีนั้นส่วนมากจะมีเนื้อหาและรูปแบบของการแสดงที่มีลักษณะแห่งความเป็นสากล อาจมีการหยิบยกเรื่องราวที่สามารถพบเห็นได้รอบ ๆ ตัวเรานำมาเสนอให้เกิดมุมมองและทัศนคติใหม่ ๆ ต่อสังคมเพื่อตีแผ่หรือสะท้อนแง่คิดแห่งเรื่องราวนั้น ๆ ให้ปรากฏต่อสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง
การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยถือเป็นการแสดงที่ต้องประสานสัมพันธ์กับสื่อต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ฉาก เทคนิค แสง เสี่ยง วัสดุ อุปกรณ์ประกอบการแสดง เวลา บรรยากาศ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาษาแห่งการบอกเล่าเรื่องราวร่วมกับการเคลื่อนไหวแบบนาฏศิลป์ร่วมสมัยแทบทั้งสิ้น 
      

      นาฏศิลป์ร่วมสมัยที่ดีจะต้องมีความร่วมสมัยที่สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจในสารที่ต้องการจะสื่อ การชมนาฏศิลป์ร่วมสมัยนอกจากผู้ชมจะชมเพื่อความสนุกสนานแล้ว ผู้ขมอาจจะเกิดความรู้สึกคล้อยตามชื่นชมไปกับลีลาการเคลื่อนไหวของนักเต้นที่ผ่านการฝึกฝนจนสามารถที่จะใช้ทักษะและเทคนิคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีและทำการแสดงได้อย่างระดับมืออาชีพ ร่วมกับการออกแบบลีลาจากผู้กำกับท่าเต้นผสมผสานกับเทคนิคต่าง ๆ
การชมผลงานทางนาฏศิลป์สมัยใหม่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับสุนทรียภาพในการเลือกชมการแสดงที่หลากหลายมากขึ้นกว่าข้อจำกัดเดิม ๆ โดยมีนาฏศิลป์ร่วมสมัยเป็นทางเลือกที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อีกทางหนึ่ง
     

       นาฏศิลป์ร่วมสมัยจึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกสองด้านที่ด้านหนึ่งส่องให้เห็นถึงความงามจากภายนอกและอีกด้านหนึ่งส่องให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.
โรงเรียนบุษบา นาฏศิลป์ 25/293 หมู่บ้านสี่ไชยทอง 3 ซอย 12 แจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี โทรศัพท์ 08-1611-2747 และ 0-2964-9219 E-MAIL : buussaba@gmail.com เวลาทำการ : อังคาร - ศุกร์ 10.00-17.00น. (โทร.นัดล่วงหน้า) เสาร์ - อาทิตย์ : 9.00-17.00น. หยุดทุกวันจันทร์
Google