ReadyPlanet.com
dot dot
dot
เมนู
dot
bulletหน้าหลัก
bulletประวัติโรงเรียน
bulletวิชารำไทย
bulletวิชาบัลเลต์
bulletวิชาแจ๊สแดนซ์
bulletวิชาดนตรีไทย
bulletกิจกรรมคอร์สปิดเทอม
bulletทำเนียบนักเรียน
bulletผลงานนักเรียน / งานแสดง
bulletThai Classical Dancing for Foreigners
bulletแผนที่ B.B.Academy
bulletเช่าชุดไทย / สั่งซื้อชุดไทย
bulletเนื้อเพลงไทย,ประวัติและท่ารำ
bulletประวัติและความหมายของนาฏศิลป์ไทย
bulletประวัติและความหมายของบัลเล่ต์
bulletข่าวสาร
dot
Link น่าสนใจ
dot
bulletbb-academy.blogspot.com
bulletwww.thaidances.com
bulletsongburi-เพลงไทยเดิม
dot
Link ข่าวสาร
dot
bulletnationmultimedia
bulletMatichon
bulletThairath:ไทยรัฐ
bulletBangkokpost
dot
Free eMail
dot
bulletGmail
bulletHotmail
dot
Newsletter

dot
bulletYahoo
bulletลิงค์เพื่อนบ้าน


ประวัติและความหมายของนาฏศิลป์ไทย

 

 

  

     

 

ความหมายของนาฏศิลป์
       นาฏศิลป์  หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม ให้ความบันเทิง ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น
        การศึกษานาฏศิลป์ เป็นการศึกษาวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง นาฏศิลป์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์ อันประกอบด้วย จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์
        นาฏศิลป์ นอกจากจะแสดงความเป็นอารยะของประเทศแล้ว ยังเป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ที่จะสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบต่อไป 

        นาฏศิลป์ในแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ แต่ละภาคมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

 

 

การแสดงนาฏศิลป์ของภาคต่างๆ

 


 

 

ภาคเหนือ

           ภาคนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ

         นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนชมเดือน ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น

          ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

           ภาคนี้โดยทั่วไปมักเรียกว่าภาคอีสาน ภาคอิสาน ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุกและขยัน อดทน คนอีสานมักไปขายแรงงานในท้องที่ภาคกลางหรือภาคใต้

          เพลงพื้นเมืองอีสานจึงมักบรรยายความทุกข์ ความยากจน ความเหงา ที่ต้องจากบ้านมาไกล ดนตรีพื้นเมืองแต่ละชิ้นเอื้อต่อการเล่นเดี่ยว การจะบรรเลงร่วมกันเป็นวงจึงต้องทำการปรับหรือตั้งเสียงเครื่องดนตรีใหม่เพื่อให้ได้ระดับเสียงที่เข้ากันได้ทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คนอีสานก็พยายามหาความบันเทิงในทุกโอกาส เพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจหรือสภาพความทุกข์ยากอันเนื่องจากสภาพธรรมชาติ

          เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง หืน ซอ ปี่ไม้ซาง กลองตุ้ม กลองยาว เป็นต้น ทำนองเพลงพื้นเมืองอีสานมีทั้งทำนองที่เศร้าสร้อยและสนุกสนาน เพลงที่มีจังหวะเร็วนั้นถึงจะสนุกสนานอย่างไรก็ยังคงเจือความทุกข์ยากลำบากในบทเพลงอยู่เสมอ ทำนองเพลงหรือทำนองดนตรีเรียกว่า ลายเช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไส่บินข้ามท่ง ลายลมพัดพร้าว ลายน้ำโตนตาด เป็นต้น

         การขับร้องเรียกว่า ลำผู้ที่มีความชำนาญในการลำเรียกว่า หมอลำ ลำมีหลายประเภท เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำผญา(ผะหยา) ลำเต้ย เป็นต้น ส่วนบทเพลงหรือลายบรรเลงก็มาจากภูมิปัญญาชาวที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีโปงลาง เช่นอาจารย์ทรงศักดิ์ ปทุมสิน ซึ้งเป็นผู้เชี่ยวทางด้านโหวด และอาจารย์ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน แคน

 

 

 ภาคใต้

         ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคลิกบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด การแต่งกาย การแสดง เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก นาฏศิลป์ของชาวไทยภาคใต้ เช่น มโนราห์ ลิเกป่า ลิเกฮูลู หน้งตะลุง รองเง็ง เพลงบอก ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ ระบำกรีดยาง รำซัดชาตรี เป็นต้น

ภาคกลาง

         ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ จนบางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว

        การแสดงนาฏศิลป์ของภาคกลาง เช่น โขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ลิเก หุ่น หนังใหญ่ เป็นต้น

 

 

ระบำ รำ ฟ้อน
        นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น  นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกันแต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน  ขอบข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวงการเล่นเบิกโรงการละเล่นพื้นเมือง
        นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น
     
      ระบำ
คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน  การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ  คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น
ระบำ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด
     
     รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก
1. การรำเดี่ยว คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ
     1.1  ต้องการอวดฝีมือในการรำ
     1.2 ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ
     1.3 ต้องการสลับฉากเพื่อรอการจัดฉากหรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ
2.  การรำคู่  แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม
     2.1  การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริชเป็นการรำไม่มีบทร้องใช้สลับฉากในการแสดง
     2.2  การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า
3.  การรำหมู่  เป็นการแสดงมากกว่า 2 คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว  
            
     ฟ้อน  หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ จะใช้ผู้แสดงเป็นจำนวนมาก
มีลีลาการฟ้อนพร้อมเพรียงกันด้วยจังหวะที่ค่อนข้างช้า 

 

 

เอกลักษณ์และความสำคัญของการฟ้อนรำไทย
          การฟ้อนรำของไทย มีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเป็นไทยในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เป็นศิลปะประจำชาติ ไม่ซ้ำหรือเหมือนของชาติอื่น นับว่าเป็นสมบัติอันเป็นวัฒนธรรมของชาติที่น่าภูมิใจยิ่ง

ประโยชน์และคุณค่าจากการรำไทย
1.  เพื่อการสื่อสาร  นาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่ายและเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า "ภาษาท่ารำ" โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร
2.  เพื่องานพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ การฟ้อนรำเพื่อบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การรำแก้บน การฟ้อนรำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการฟ้อนรำบูชาครู ไม่ได้แก้บนใด ๆ แต่เป็นการฟ้อนบูชาครู หรือเป็นพุทธบูชา เช่น การรำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย
3.  เพื่องานพิธีการต่างๆ ได้แก่ พิธีการต้อนรับแขกเมืองสำคัญ พิธีแห่เทวรูปที่เคารพประจำปี เพื่อเป็นสิริมงคล พิธีฉลองงานสำคัญ เช่น งานวันเกิด งานวันครบรอบ


 

        การเรียนนาฏศิลป์ จะเป็นการเสริมทักษะทางด้านการใช้บุคลิกภาพให้เกิดความน่ามอง เป็นสง่า และเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น โดยที่ผู้เรียนจะค่อยๆซึมซับทักษะนี้หากได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้พัฒนาการทางด้าน สติปัญญา สมาธิ จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนจะได้รับจากความตั้งใจในชั้นเรียนอีกด้วย


 

 

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.
โรงเรียนบุษบา นาฏศิลป์ 25/293 หมู่บ้านสี่ไชยทอง 3 ซอย 12 แจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี โทรศัพท์ 08-1611-2747 และ 0-2964-9219 E-MAIL : buussaba@gmail.com เวลาทำการ : อังคาร - ศุกร์ 10.00-17.00น. (โทร.นัดล่วงหน้า) เสาร์ - อาทิตย์ : 9.00-17.00น. หยุดทุกวันจันทร์
Google